องค์การบริหารส่วนตำบลหัวเขา อำเภอเดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรี: www.huakhao.go.th

 
 
สถานที่ท่องเที่ยว

 
 

วัดหัวเขา 

หลวงพ่ออิ่ม วัดหัวเขา
หากพูดถึงพระเกจิอาจารย์ที่หลวงพ่อปาน วัดบางนมโค ยกย่อง หลวงพ่ออิ่ม วัดหัวเขา อ.เดิมบางนางบวช จ.สุพรรณบุรี ก็นับเป็นอีกรูปหนึ่ง ที่หลวงพ่อปานกล่าวยกย่องด้วยความเคารพ โดยหลวงพ่อปาน เรียกหลวงพ่ออิ่มว่า “พระเจดีย์” ซึ่งหมายถึงว่า เป็นพระภิกษุสงฆ์ที่น่าเคารพยกย่องเหมือนกับเป็นพระสถูป หรือพระเจดีย์ ที่ควรค่าแก่การสักการะบูชา

หลวงพ่ออิ่ม ท่านเป็นพระที่เคร่งในพระธรรมวินัย และญาณสมาบัติสูง

 

   
   

ประวัติของหลวงพ่ออิ่ม วัดหัวเขา 

ท่านเกิดเมื่อวันอาทิตย์ ปีจอ เดือน ๗ ในปลายสมัยรัชกาลที่ ๔ ตรงกับวันที่ ๑ เดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๔๐๖ อุปสมบทเมื่อประมาณ พ.ศ.๒๔๒๖ ท่านเป็นพระธุดงค์มาจากเมืองอื่น (บางข้อมูลว่าท่านเป็นคนอำเภอศรีประจันต์ จากบันทึกว่าท่านเคยเป็นเจ้าอาวาสวัดไก่เตี้ย อำเภอศรีประจันต์) แล้วเดินทางมาปักกลดปฏิบัติธุดงควัตรอยู่บริเวณบ้านหัวเขา อำเภอเดิมบางนางบวช ซึ่งแต่เดิมเป็นป่ารกทึบ ท่านเห็นว่าอาณาบริเวณนี้มีความสงบร่มรื่นเหมาะแก่การสร้างเป็นวัด จึงได้สร้างเป็นวัดขึ้นมาชื่อว่า “วัดหัวเขา” และท่านก็ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสรูปแรก

 
   
   
   

ในการอุปสมบทครั้งแรกของ หลวงพ่อมุ่ย วัดดอนไร่ นั้น หลวงพ่ออิ่ม ก็เป็นพระคู่สวดให้ และในการอุปสมบทครั้งที่สองของหลวงพ่อมุ่ย หลวงพ่อมุ่ยท่านก็ได้ฝากตัวเป็นลูกศิษย์ของหลวงพ่ออิ่ม ประวัติกล่าวว่าหลวงพ่อมุ่ยแวะเวียนไปมาหาสู่กับหลวงพ่ออิ่มเป็นประจำ อีกทั้งยังเคยไปจำพรรษาที่วัดหัวเขาเป็นเวลา ๑ พรรษา เพื่อเรียนวิชาอาคมกับหลวงพ่ออิ่ม หลังจากนั้นก็ยังไปมาหาสู่หลวงพ่ออิ่ม และหลวงพ่ออิ่มยังพาไปศึกษาต่อกับหลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่าด้วย

หลักฐานจากหนังสือพระราชทานเพลิงศพพระครูวรนาถรังษี หลวงพ่อปุย วัดเกาะ กล่าวด้วยว่า พ.ศ.๒๔๖๓ หลวงพ่อปุยก็เดินทางมาฝากตนเป็นศิษย์หลวงพ่ออิ่ม และอาจารย์มนัส โอภากุล เขียนไว้ในหนังสือลานโพธิ์กล่าวว่า หลวงพ่ออิ่มยกย่องหลวงพ่อปุยว่า เปรียบเสมือนบัวที่พ้นน้ำแล้ว สอนอะไรก็เข้าใจง่าย ศึกษาได้รวดเร็ว ไม่ต้องจ้ำจี้จำไชเท่าไรนัก หลวงพ่อปุยเองก็เคยเล่าให้ศิษย์ฟังเสมอๆว่า หลวงพ่ออิ่มท่านเป็นพระที่เคร่งในพระธรรมวินัยมาก ญาณสมาบัติสูงมาก

สมัยที่หลวงพ่ออิ่มท่านได้ปกครองวัดหัวเขา ท่านพัฒนาวัดหัวเขาจนเป็นวัดที่เจริญวัดหนึ่งในสมัยนั้น และมีพระภิกษุสงฆ์เดินทางมาฝากตัวเป็นลูกศิษย์มากมาย อาทิ หลวงพ่อมุ่ย วัดดอนไร่ , หลวงพ่อปุย วัดเกาะ , หลวงปู่แขก วัดหัวเขา และหลวงพ่อทรง วัดศาลาดิน เป็นต้น

หลวงพ่ออิ่มท่านมรณภาพเมื่อประมาณต้นปีพ.ศ.๒๔๘๐ สิริอายุ ๗๔ปี

ในยุคที่หลวงพ่ออิ่ม ครองวัดหัวเขา มีการสร้างเครื่องรางของขลังโบราณหลายชนิด เช่น ตะกรุดแบบต่างๆ รวมทั้งผ้ายันต์ เหรียญปั๊ม เหรียญหล่อโบราณ รูปหล่อโบราณ(นางกวัก) แหวนแบบต่างๆ พระผงใบลาน เป็นต้น

ที่มา :  http://www.bp.or.th/webboard/index.php?topic=17841

 
   

 
 
   
   

คุณปู่เมืองสุพรรณฯเผยโฉมแหวนทองเหลืองโบราณ'หลวงพ่ออิ่ม'

พ่อเฒ่าเมืองสุพรรณบุรี เผยโฉมแหวนทองเหลืองโบราณของหลวงพ่ออิ่ม สิริปุญโญ อดีตเจ้าอาวาสวัดหัวเขา ขนาดยักษ์เส้นผ่าศูนย์กลาง 20 ซม.หนักร่วม 1 กก.โดยทำขึ้นเพื่อฟื้นฟูตำราเลขยันต์อักขระ เวลานี้ไม่มีใครสานต่อการทำแหวนทองเหลืองแบบโบราณอีกแล้ว จึงอยากเก็บเอาไว้ให้คนรุ่นหลังรู้จัก...

วันที่ 8 พ.ค. พระมหานพรัตน์ ชาลมุตโต เจ้าอาวาสวัดหัวเขา ต.หัวเขา อ.เดิมบางนางบวช จ.สุพรรณบุรี เผยว่า จากประวัติของหลวงพ่ออิ่ม สิริปุญโญ อดีตเจ้าอาวาสวัดหัวเขา ซึ่งเป็น 1 ใน 3 พระอาจารย์ใหญ่สำนักวิปัสสนากรรมฐานแห่งเมืองสุพรรณในยุคช่วงก่อนสมัย สงครามโลกครั้งที่ 2 โดยมีการกล่าวขาน โจษจัน ร่ำลือกันมาช้านานว่า สมัยท่านยังทรงสังขารอยู่เป็นพระที่มีกิตติคุณเคร่งครัดในพระธรรมวินัยมาก นอกจากนี้หลวงพ่ออิ่ม ยังมีตำราโบราณหลายด้านที่ยังคงมีการสืบทอดกันมาเช่นวิธีการทำแหวนแบบโบราณ ใช้มือทำทีละวง โดยมีชาวบ้าน ต.หัวเขา เป็นผู้เก็บรักษาตำราเหล่านี้ไว้

นายวัง สูงปานเขา อายุ 77 ปี ชาวบ้าน ต.หัวเขา อ.เดิมบางนางบวช จ.สุพรรณบุรี กล่าวว่า ตนได้เก็บรักษาตำราการทำแหวนโบราณของหลวงพ่ออิ่มไว้เป็นอย่างดี โดยตำรานี้ได้มาจากนายเหรียญ สูงปานเขา บิดาที่ในอดีตเป็นลูกศิษย์ก้นกุฏิของหลวงพ่ออิ่ม เป็นตำราที่ถูกจารึกลงบนกระดาษข่อย ใบลาน โดยการทำแหวนทองเหลืองโบราณของหลวงพ่ออิ่ม ที่ทำด้วยมือมีขั้นตอนประกอบด้วย ขั้นตอนแรก ทำแบบด้วยการทำพิมพ์ขี้ผึ้งโดยแม่พิมพ์นี้จะแบนราบ จากนั้นทำหุ่นวงแหวน เททองเหลืองลงบนพิมพ์ แกะแบบ ตีวงแหวนให้เข้ากับหุ่นเป็นวงกลม แล้วตกแต่ง เป็นแหวนที่ทำได้ทีละวง ดังนั้นรูปแบบการทำแหวนโบราณแต่ละวงจึงไม่เหมือนกันเพราะใช้มือทำ

เจ้าของตำราแหวนทองเหลืองโบราณ กล่าวด้วยว่า ปัจจุบันตนยังทำแหวนทองเหลืองโบราณนี้อยู่ ด้วยการเก็บสะสมภาชนะโบราณเนื้อทองเหลือง ที่ชาวบ้านนำมาให้ เพราะการทำแหวนทองเหลืองโบราณนี้ไม่ได้ทำเพื่อขาย แต่ทำเพื่อฟื้นฟูตำราเลขยันต์อักขระของหลวงพ่ออิ่ม และแจกให้กับผู้ที่ศรัทธาเก็บรักษาไว้เท่านั้น ล่าสุดตนได้ทำแหวนทองเหลืองหลวงพ่ออิ่มไว้วงหนึ่งมีน้ำหนักมากกว่า 1 กก.เส้นผ่าศูนย์กลาง 20 ซม.เส้นรอบวง 60 ซม.เป็นแหวนทองเหลืองที่ใหญ่ที่สุดวงเดียวในโลก เพื่อให้คนรุ่นหลังได้รู้จักหลวงพ่ออิ่ม เพราะจากนี้ไปคงไม่มีผู้ใดที่จะสืบสานตำราการทำแหวนทองเหลืองแบบโบราณอีกแล้ว ตนน่าจะเป็นคนรุ่นสุดท้ายจึงได้ทำไว้ให้เป็นที่กล่าวขานกันต่อไป.

ทีมข่าวไทยรัฐจังหวัดสุพรรณบุรี

 
   
ข้อมูลจาก : http://www.suphan.biz/Wathuakao.htm